การค้าต่างตอบแทน (COUNTER TRADE)
คอลัมน์ คลื่นความคิด สกล หาญสุทธิวารินทร์ มติชนรายวัน วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10467
เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ในคอลัมน์จอดป้ายประชาชื่น คุณวุฒิ สรา ได้เขียนเชียร์ให้ล้มบาร์เตอร์เทรด (BARTER TRADE) เนื่องจากบาร์เตอร์เทรด เป็นส่วนหนึ่งของเคาน์เตอร์เทรด หรือที่เรียกว่าการค้าต่างตอบแทน เลยจะถือโอกาสเล่าเรื่องเคาน์เตอร์เทรดเป็นการเสริมเพิ่มเติม
เคาน์เตอร์เทรด (COUNTER TRADE) หรือการค้าต่างตอบแทนคือ การที่ประเทศหนึ่งตกลงซื้อสินค้าจากอีกประเทศหนึ่ง เป็นการตอบแทนที่ประเทศนั้นซื้อสินค้าหรือบริการของตน การค้าต่างตอบแทนมีหลายวิธี แต่จะกล่าวถึงเฉพาะวิธีที่ไทยคุ้นเคยคือ
1.การแลกเปลี่ยนสินค้า (BARTER ) วิธีนี้เป็นวิธีขั้นปฐมคือ การใช้สินค้าแลกสินค้า หรือใช้สินค้าเป็นตัวชำระค่าสินค้า ที่ซื้อจากอีกประเทศหนึ่ง เช่น ประเทศ ก.ใช้น้ำมันแลกข้าว หรือใช้น้ำมันชำระค่าข้าว
2.การซื้อต่างตอบแทน (COUNTER PURCHASE) เป็นกรณีที่ผู้ขายสินค้าหรือบริการไปยังอีกประเทศหนึ่ง ตกลงที่จะซื้อสินค้าตามที่กำหนดจากประเทศที่ตนขายสินค้าหรือบริการ
3.การซื้อกลับ (Buyback) คือ กรณีที่ผู้ขายอุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องมือที่ใช้ผลิตสินค้าตกลง ที่จะซื้อสินค้าที่ผลิตจากอุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องมือที่ซื้อ จากตนเป็นการตอบแทน
4.ออฟเซท (OFFSET) เป็นการซื้อ-ขายที่ไม่ต้องใช้การชำระเงิน แต่ใช้การหักทอนบัญชีหรือหักกลบลบหนี้
การทำการค้าต่างตอบแทนมีจุดประสงค์หลักคือ เป็นการช่วยผลักดันการส่งออกสำหรับสินค้าที่ผลิตได้เกินความต้องการ หรือเป็นกรณีที่ประเทศผู้ซื้อขาดแคลนเงินตราต่างประเทศสกุลหลัก หรือเป็นกรณีที่มีปัญหาไม่สามารถทำการซื้อขายกันได้ ตามช่องทางตลาดปกติ
สำหรับประเทศไทย เริ่มมีความคิดที่จะนำระบบการค้าต่างตอบแทนมาใช้ผลักดันการส่งออกสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ผลผลิตล้นตลาดตั้งแต่ปี 2522 ระยะแรก นำระบบแลกเปลี่ยน BARTER TRADE มาใช้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ต่อมาจึงหันมาใช้วิธีซื้อต่างตอบแทนเป็นหลัก มีการออกเป็นระเบียบปฏิบัติกำหนดให้ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่จะทำสัญญาซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศที่มีวงเงิน ตั้งแต่สามร้อยล้านบาทขึ้นไป ต้องมีข้อกำหนดให้ผู้ขายต้องซื้อสินค้าเกษตรจากไทยเป็นการตอบแทนในอัตราที่กำหนด การซื้อสินค้าตอบแทน ไม่จำเป็นต้องซื้อเอง จะมอบหมายหรือหาผู้ซื้ออื่นมาซื้อก็ได้ ประเทศไทยหันกลับมาใช้วิธีการแลกเปลี่ยน อีกในปี 2548 ย้อนยุคยุ่งยากตามที่คุณวุฒิ สรา กล่าวไว้จริงๆ
ขณะนี้มีการประเมินกันแล้วว่า การค้าต่างตอบแทนทำให้ต้นทุนการส่งออกสูงขึ้น ไม่มีการซื้อตอบแทนจริง แต่มีการไม่สุจริต ใช้การซื้อใบเสร็จ หรืออินวอยซ์จากผู้ส่งออกตามทางการค้าปกติมาแสดง อาจกลายเป็นระบบที่เกิดใหม่ มีเฉพาะในประเทศไทย
คือ ระบบการซื้อใบเสร็จต่างตอบแทน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น