วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น และการค้ากับไทย

การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น
การค้าของญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม)ของปี 2552 นี้ ญี่ปุ่นได้ดุลการค้า 19,913.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกมูลค่า 464,513.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้ามูลค่า 444,599.6 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ มูลค่าส่งออก และนำเข้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 31.1 และ 31.4 ตามลำดับ
การส่งออกของญี่ปุ่นฟื้นตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2552 มูลค่าส่งออกเดือนตุลาคมนี้ เท่ากับ 58,743.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2551 แต่ยังต่ำกว่าเดือนตุลาคม 2551 ร้อยละ 15.1 อัตราการลดต่อปีของมูลค่าส่งออกชลอลง ขณะที่การนำเข้าเดือนนี้มีมูลค่าเพียง 49,831.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนที่แล้วเล็กน้อยร้อยละ 0.8 และมีมูลค่าต่ำกว่าเดือนตุลาคม 2551 ร้อยละ 28.7
การส่งออก

สินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่น ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าประเภท ยานยนต์และส่วนประกอบเครื่องจักรไฟฟ้า/อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
การส่งออกของญี่ปุ่นไปตลาดเอเชียกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย และมาเลเซีย การส่งออกของญี่ปุ่นไปประเทศเหล่านี้เดือนตุลาคม 2552 แม้มีมูลค่าน้อยกว่าเดือนเดียวกันของปี 2551 แต่ใกล้เคียงกับเดือนพฤศจิกายน 2551 โดยจีนซึ่งเป็นตลาดเส่งออกอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นแทนที่สหรัฐฯมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.0 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 18.8 ของมูลค่าที่ส่งออกไปตลาดโลก ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้
มูลค่าส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เดือนตุลาคมกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องจากเดือนกันยายน 2552 แต่การส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง และยุโรป ยังไม่ฟื้นตัวดี โดยเฉพาะรัสเซียมูลค่าส่งออก 10 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 82 .1
การนำเข้า
มูลค่านำเข้าของญี่ปุ่นระยะ 10 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 31.4 สินค้าที่มูลค่าลดลงมาก เช่น สินค้าเชื้อเพลิง สินแร่ ยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับธัญญพืช อลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าบางรายการมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า/อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งอากาศยานและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมเนื้อสัตว์ปรุงแต่ง กระดาษและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
การนำเข้าจากประเทศเอเชียกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นมูลค่านำเข้าจากจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีลดลงจากปี 2551 เพียงร้อยละ 16.9 สินค้านำเข้าจากจีนมี สัดส่วนถึงร้อยละ 22.18 ของมูลค่านำเข้ารวม เพิ่มจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วที่มีสัดส่วนร้อยละ 18.42 ประเทศเอเชียอื่นที่มีสัดส่วนของมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเชีย เวียดนาม และไทย ญี่ปุ่น นำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 20.0-29.2 โดยนำเข้าจากไทยลดลงร้อยละ 26.4 มูลค่าสินค้าจากไทยมีสัดส่วนร้อยละ 2.91 เพิ่มจากร้อยละ 2.71 ในช่วงเดียวกันของปี 2551
การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย
การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ทั้งการส่งออกและการนำเข้า กระเตื้องต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2552 ในช่วง มกราคม-ตุลาคม ปีนี้ ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าไทย 4,272.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกมาไทยมูลค่า 17,220.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 31.0 นำเข้าจากไทย 12,947.2 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 26.4
การนำเข้าจากไทย
การนำเข้าจากไทยช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ แม้มูลค่าหดตัวลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.4 แต่สินค้าสำคัญบางรายการมีมูลค่าขยายตัวขึ้นจากปี 2551 เช่น เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง(+8.1%) อาหารทะเลแปรรูป(+11.0%) กุ้ง ปู สดแช่เย็น/แช่แข็ง(+22.2%) เสื้อผ้าสำเร็จรูป(+3.6%) เครื่องสำอางและน้ำหอม (+37.5%) และข้าว(+4.5%) เป็นต้น
สำหรับสินค้าไทยที่มูลค่านำเข้าช่วงเดือน มกราคม-ตุลาคม 2552 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 มาก แต่ขณะนี้มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบรถยนต์ ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับแผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์สำหรับต่อภายในวงจรไฟฟ้า ไดโอททรานซิสเตอร์และอุปกรณ์ สายไฟฟ้าสายเคเบิ้ล เป็นต้น
การส่งออกมาไทย
โดยที่สินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกมาไทยกว่าร้อยละ 80 เป็นสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าสำคัญที่ญี่ปุ่นส่งออกมาไทยในช่วง มกราคม-ตุลาคม 2552 ลดลงเกือบทุกรายการ ตามสถานการณ์การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าบางรายการที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบและยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบเครื่องรับ-ส่งโทรทัศน์และวิทยุ ไดโอททรานซิสเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์สำหรับต่อภายในวงจรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า และพลาสติก เป็นต้น
ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นและแนวโน้ม
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เป็นผลจากสถานการณ์การส่งออกที่กระเตื้องขึ้นมาตั้งแต่กลางปี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 8 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือน ในไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) 2552 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 และค่าใช้จ่ายครัวเรือนญี่ปุ่นในเดือน ตุลาคม นี้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 1.6
อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงไตรมาส 3 ปี 2551 ถึงร้อยละ 20 ภาวะการลงทุนของภาคเอกชนยังไม่ดีนัก และแม้อัตราการว่างงาน ลดลง 3 เดือนติดต่อกันจากเดือนกรกฎาคมที่อัตราร้อยละ 5.7 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดเป็นประวัติการ มาอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ในเดือนตุลาคมนี้ แต่ค่าจ้างเฉลี่ยยังคงโน้มลดลง เนื่องจากธุรกิจญี่ปุ่นพยายามหลีกเลี่ยงการปลดพนักงานออก โดยการลดค่าจ้าง/โบนัส รวมทั้งลดการทำงานล่วงเวลา ทั้งนี้ ค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในช่วงไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) 2552ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.8 ส่งผลสืบเนื่องให้ญี่ปุ่นประสบภาวะเงินฝืด โดยดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศญี่ปุ่นลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ใช้ราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้ากว่าในอดีตมาก ผู้ประกอบการต้องแข่งขันจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาที่ถูกลง
สงครามด้านราคาที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการ/ผู้ค้าปลีกใช้กลยุทธ์ แตกต่างกันไป ทั้งการลดราคาสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคลงจากเดิม การจำหน่ายสินค้า private-brand ซึ่งราคาต่ำกว่าสินค้า nation-brand หรือการนำเสนอสินค้าคุณภาพปานกลางที่ราคาไม่แพง โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่น เป็นต้น ดังนั้น เพื่อลดต้นทุนและผลจากภาวะค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมาก ธุรกิจญี่ปุ่นจึงรักษาระดับรายได้โดยมองหาแหล่งผลิต/ช่องทางลงทุนการผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจใหม่ในเอเชียมากขึ้น รวมทั้งผู้ส่งออกญี่ปุ่นหลายรายมีแผนขยายฐานการผลิตไปประเทศอื่น เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และขยายโอกาสส่งออกไปประเทศที่สามมากขึ้น
-------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น